วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ลูกจันทน์หรือจันทน์เทศ




ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลูกจันทน์เป็นผลผลิตจากพืชในตระกูลไมริสติคาซีอี (Myristicaceae) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าไมริสติกา แฟรกกรานส์ (Myristica fragrans Houtt.) ลักษณะของพืชเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดปานกลางจนถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูง 30-60 ฟุต บางครั้งอาจสูงมากถึง 70-80 ฟุต ลำต้นแตกแขนงได้มากมาย เปลือกของลำต้นมีสีเทาเข้ม ใบมีสีเขียวเข้มมีรูปร่างแบบปลายหอก ใบยาว 2-5 นิ้ว หูใบมีสีน้ำตาลหรือสีเหลืองอ่อน ดอกตัวผู้จะเกิดอยู่ในกลุ่ม ส่วนดอกตัวเมียจะเกิดอยู่เดี่ยวๆ และมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ ผลมีรูปร่างเกือบกลม สีแดงหรือเหลือง หรือเหลืองส้ม มีความยาว 11/2-2 นิ้ว กว้าง 13/16 นิ้ว เมื่อมองดูผลจะมีลักษณะขรุขระ แต่เมื่อจับดูจะเรียบ เมื่อผลสุกจะแตกออกเป็นสองส่วน



พืชนี้เจริญได้ดีในเขตที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกในแต่ละปี ประมาณ 80-100 นิ้ว เจริญได้ดีในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร หรือ 1,500 ฟุต และในดินที่มีฮิวมัสมาก การขยายพันธุ์ได้โดยใช้เมล็ด เมล็ดใช้เวลานาน 6 สัปดาห์ จึงจะงอก บางครั้งอาจนานถึง 3 เดือน หรือบางครั้งอาจะเร็วภายใน 4 สัปดาห์เท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฟักตัวของเมล็ดหลังจากงอกแล้วนาน 6 เดือน พืชจะเจริญได้สูง 15-20 ซม. หรือ 6-9 นิ้ว จึงจะย้ายไปปลูกในแหล่งที่ต้องการได้ ในระยะแรกปลูกนี้ พืชต้องการร่มเงาในการเจริญเป็นอย่างมาก จึงมักปลูกปะปนกับพืชให้ร่มเงาต่างๆ เช่น กล้วย เป็นต้น พืชนี้มีต้นตัวผู้และตัวเมียแยกกัน



ต้นตัวเมียเท่านั้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนต้นตัวผู้มีความจำเป็นเฉพาะการผสมเกสร ตามปกติการเจริญของพืชนี้จะช้ามากโดยจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่พืชมีอายุ 6 ปีเป็นต้นไป แต่บางครั้งอาจนานถึง 8-9 ปี ผลผลิตที่ได้จะให้ปริมาณสูงสุดในช่วง 15 ปี และให้ผลผลิตติดต่อกัน ไปจนถึง 30 ปี แต่บางครั้งนานถึง 90 ปี ผลผลิตจากพืชแต่ละต้นในแต่ละปีจะให้ลูกจันทน์ 1,000 ผล ถึง 3,000 ผล ในอินเดียมีพืชนี้ปลูกประมาณ 400 เฮคเตอร์ ในแต่ละปีจะผลิตลูกจันทน์ได้ 200 ตัน และดอกจันทน์ได้ 10 ต้น



ถิ่นกำเนิด



ลูกจันทน์เป็นผลผลิตจากพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย และเกาะโมลัคกา ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกนั่นเอง จากนั้นได้แพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของโลก ลูกจันทน์และจันทน์เป็นเครื่องเทศที่มีใช้กันมานานแล้วตั้งแต่ในสมัยของชาวโรมัน โดยนำไปใช้ผสมเป็นเครื่องแกงในแกงกะหรี่ แต่อย่างไรก็ตามชาวโรมันก็ยังไม่รู้จักพืชนี้ นอกจากนี้ยังได้มีบันทึกไว้ว่าในระหว่างศตวรรษที่ 6 ได้มีการค้าขายเครื่องเทศนี้แล้ว โดยชาวอาหรับได้นำดอกจันทน์และลูกจันทน์มาจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกไปขายที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ต่อมาเครื่องเทศนี้ได้แพร่เข้าสู่ยุโรปในศตวรรษที่ 12 จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะตั้งแต่อิตาลีไปถึงเดนมาร์กในปี ค.ศ.1191 ซึ่งได้มีพิธีสถาปนาพระเจ้าเฮนรี่ที่ 6 (Henry VI) ขึ้นเป็นจักรพรรดินั้น ถนนทุกสายที่เข้าสู่กรุงโรมจะหอมอบอวลไปด้วยกลิ่นของลูกจันทน์และเครื่องเทศอื่นๆ ความต้องการเครื่องเทศนี้เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะในอังกฤษ จึงทำให้มีราคาแพง โดยดอกจันทน์ 1 กก. สามารแลกแกะได้ถึง 3 ตัว



ในปี ค.ศ.1521 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสสองคนคือ บาร์ธีมา (Barthema) และปิกาเฟตตา (Pigafetta) ได้พบพืชนี้เป็นครั้งแรกและได้นำไปปลูกในเกาะบานดา (Banda) ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะโมลัคกา



จากนั้นได้มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทั้งหมู่เกาะนี้ จนกระทั่งโปรตุเกสสามารถยึดเกาะนี้ไว้ได้ จึงผูกขาดการค้าขายลูกจันทน์และดอกจันทน์ไว้แต่ผู้เดียว ต่อมาในปี ค.ศ.1602 ฮอลันดาสามารถยึด หมู่เกาะโมลัคกาได้จากฝรั่งเศสจึงได้ผูกขาดการค้าไว้เป็นระยะเวลายาวนานถึง 200 ปี โดยได้ตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Dutch East India) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขาย



ในปี ค.ศ.1769-1770 ฝรั่งเศสได้นำพืชไปปลูกที่เกาะเมาริติอุส (Mauritius) และทางตะวันออก ของเกาะมาดากัสกา ต่อมาอังกฤษสามารถยึดหมู่เกาะโมลัคกาจากฮอลันดาได้เป็นผลสำเร็จ จึงได้ขยายการปลูกพืชนี้อย่างแพร่หลาย โดยในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1790-1802 ได้นำพืชนี้ไปปลูกในปีนัง เป็นครั้งแรกและขยายไปสู่มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และลังกา ในปี ค.ศ.1843 ได้ขยายการปลูกพืชนี้ไปสู่เกาะเกรนดา (Grenada) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะอินเดียตะวันตกอีกด้วย เป็นผลให้ราคาเครื่องเทศนี้ลดลง



ในปัจจุบันประเทศที่เป็นแหล่งผลิตลูกจันทน์และดอกจันทน์ที่สำคัญคือ ตรินิแดด ลังกา อินโดนีเซีย เกาะเกรนดาและลีวาร์ด (Lea Ward Island) อินเดียและหมู่เกาะซีรีเบรส (Celebes Island) สำหรับในประเทศไทยนั้นมีพบปลูกมากทางภาคใต้ เช่น ตรังและนครศรีธรรมราช โดยในแต่ละปี ทั่วโลกผลิตลูกจันทน์ได้ 7,000 ตัน และดอกจันทน์ 4,000 ตัน ในจำนวน 60% ผลิตจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยส่งไปขายในสหรัฐอเมริกา เยอรมันตะวันตก อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และอินเดียว ในปี ค.ศ.1969 ลูกจันทน์จำนวนมากกว่า 5 ล้านปอนด์ที่นำเข้าสู่สหรัฐอเมริกานั้น ได้จากอินโดนีเซียมากถึง 80%



ประโยชน์



ลูกจันทน์เป็นเครื่องเทศที่มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการแพทย์นั้น ได้ใช้ลูกจันทน์เป็นยามาเป็นเวลานานแล้ว เช่น ใช้น้ำมันหอมระเหย รับประทานแก้การอักเสบของทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับลม ในอินเดียนำไปผสม เป็นยารับประทานแก้ปวดหัว เป็นไข้หรือทำให้ลมหายใจมีกลิ่นสะอาดและแก้อาการผิดปกติ ของระบบทางเดินอาหาร ชาวอาราเบียได้ใช้ลูกจันทน์เป็นยาขับลมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แก้การเจ็บปวดที่ไตและกระเพาะอาหาร



สำหรับในประเทศไทยนั้นได้ใช้ลูกจันทน์แก้ร้อนใน จุกเสียด กระหายน้ำ ขับลมในลำไส้ บำรุงโลหิต แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้หืด แก้เสมหะ และแก้ริดสีดวง นอกจากนี้ประชากรในภาคใต้ของไทย และมาเลเซียยังได้นำผล (ลูก) จันทน์มาแช่อิ่มเพื่อรับประทานเป็นอาหารหวาน หรือนำส่วนที่เป็นเนื้อของผล ไปทำเป็นผลไม้กวน เป็นต้น ในทางด้านอาหารได้นำลูกจันทน์และดอกจันทน์ไปใช้แต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด เช่น พุดดิ้ง ขนมปัง ซอส แฮม เนย ไส้กรอก เค้ก ปลา เนื้อสัตว์และสัตว์ปีกต่างๆ ทำให้มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน รวมทั้งได้นำไปใช้ในการถนอมอาหารอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้นำลูกจันทน์ และดอกจันทน์ไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมต่างๆ และเครื่องสำอางเช่นกัน



สารเคมีที่สำคัญ



สารเคมีที่พบในลูกจันทน์จะพบในส่วนของน้ำมันหอมระเหย โดยทั่วไปแล้วลูกจันทน์ มีน้ำมันหอมระเหย 5-15% น้ำมันไม่มีสีหรือสีเหลืองอ่อน สำหรับสารเคมีที่พบมีหลายชนิด เช่น แคมเฟอร์อัลฟา-ไปนีน (a-pinene), แคมฟีน (camphene), ลินาลูล (linalool), ไมริสติซิน (myristicin), ซาฟรอล (safrole), ไอโซยูจีนอล (isoeugenol) เป็นต้น



ในสารเคมีต่างๆ พบอัลฟาไปนีนและแคมฟีน รวมกันมากถึง 80% นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารเคมีที่พบในลูกจันทน์ยังแตกต่างกันไปตามแหล่งปลูกอีกด้วย เช่น ยูจินอลและซาฟรอลจะพบในลูกจันทน์ ที่ได้จากหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ส่วมแคมเฟอร์จะพบในลูกจันทน์จากหมู่เกาะอินเดียตะวันตกเท่านั้น



ปริมาณสารเคมีและน้ำมันหอมระเหยของลูกจันทน์จะแตกต่างกันไปตามแหล่งปลูก สายพันธุ์ของพืช ฯลฯ ยังมีรายงานว่า ระยะเวลาการเก็บรักษาจะทำให้น้ำมันหอมระเหยลดต่ำลง โดยลูกจันทน์ที่เก็บไว้ในสภาวะ ที่มีความกดดันต่ำเป็นเวลานาน 12 เดือน จะมีน้ำมันหอมระเหยลดลงเป็นจำนวนมาก สำหรับอุณหภูมิก็มีผลเช่นเดียวกัน โดยน้ำมันหอมระเหยของลูกจันทน์จะสูญหายไปเมื่อได้รับความร้อน ที่อุณหภูมิสูงและเป็นเวลานาน เมื่อนำลูกจันทน์ไปเป็นส่วนปรุงแต่งในอาหารกระป๋องประเภทเนื้อสัตว์ แล้วนำไปให้ความร้อนที่อุณหภูมิต่างๆ กัน จากนั้นเก็บไว้นาน 2-3 สัปดาห์ จะพบว่าน้ำมันหอมระเหย จะสูญหายที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส ดังนั้นในอาหารและเครื่องยาแผนโบราณที่มีลูกจันทน์ เป็นส่วนผสมอยู่ด้วยแล้วนำไปให้ความร้อนที่อุณหภูมิของการต้มจนเดือด (100 องศาเซลเซียส) จะทำให้ประสิทธิภาพของจันทน์สูญเสียไปด้วย



อันตรายที่อาจเกิดขึ้น

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานลูกจันทน์เป็นผลเนื่องจากได้รับสารพวกไมริสติซิน ที่พบในน้ำมันหอมระเหย สารนี้มีชื่อทางเคมีว่า 4-อัลลีล-6เมธอกซี-12, 2-เมธีลีนไอออกซีเบนซีน (4-allyl-6-methoxy-1, 2-methylenedioxybenzene) มีสูตรโมเลกุล C11H12O3 สารนี้เป็นพิษต่อร่างกาย โดยทั่วไปในน้ำมันหอมระเหยจะมีไมริสติซิน 4% แต่อาจพบได้มากถึง 12-14% จากการศึกษาความเป็นพิษ ของลูกจันทน์ในหนูทดลองพบว่า ถ้าให้หนูกินน้ำมันหอมระเหยของลูกจันทน์เข้าไปจะมี LD56 ที่ 2620 มม./กก. แต่ถ้าหากเป็นน้ำมันหอมระเหยของลูกจันทน์จากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกจะมี LD50 ที่ 500 +- 140 มก./กก.



สำหรับอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะพบว่า ไขมันที่ตับถูกทำลายและเกิดเป็นอัมพาต ของระบบประสาทส่วนกลาง ทั้งนี้เนื่องจากไมริสติซินจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส (monoamine oxidase) เป็นผลให้มี 5-ไฮดรอกซี-ทริปเอมีน (5-hydroxytrypamine) สะสมอยู่ในสมองเป็นจำนวนมากจึงทำงานผิดปกติไป การทำลายส่วนของร่างกายดังกล่าวนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับปริมาณของไมริสติซินที่ได้รับ โดยถ้าได้รับไมริสติซินในปริมาณมาก จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว การหดและคลายตัวของหลอดเลือดไม่สม่ำเสมอ อุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าปกติ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ เคลิ้มฝัน ตับและไตพิการ ผิวหนังเขียวเนื่องจากขาดก๊าซออกซิเจน ไม่มีการหลั่งของน้ำลาย เกิดการหดตัวของม่านตา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อ



เกิดอาการเพ้อคลั่งและตายในที่สุด สำหรับในมนุษย์นั้นจะเกิดอาการเหล่านี้ได้รวดเร็วกว่าสัตว์ จากการศึกษาในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการรับประทานลูกจันทน์เข้าไปในปริมาณมากจะเกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตาบ่อยครั้ง ประสาทเสื่อม เคลิ้มฝัน อาการดังกล่าวนี้จะเป็นอยู่นาน 6 เดือน ส่วนการรักษาผู้ป่วยนั้น ให้รับประทานอัลคาไลยูรีน (alkai urine) จะช่วยให้อาการกลับสู่สภาวะปกติในช่วง 29 ชั่วโมงต่อมา



สารอีกชนิดหนึ่งในลูกจันทน์ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ก็คือ ซาฟรอลซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ ในหนูที่กินซาฟรอลเข้มข้น 0.5-1% จะเกิดมะเร็งในตับและการเกิดมะเร็งนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถ้าหากได้รับอาหารโปรตีน โดยเฉพาะได้รับเคซีน สำหรับการเกิดมะเร็งที่ตับอาจเกิดโดยการอักเสบ ของเนื้อเยื่อที่ตับจนมีลักษณะเป็นก้อนแข็งๆ ขึ้นมา เรียกว่าเป็นแบบเซอโรซิส (cirrhosis) หรือการเกิดจากการตายของเนื้อเยื่อตับ เรียกว่าเป็นแบบซิสติคนีโครซิส (cystic necrosis) หรือเกิดแบบเนื้อเยื่อที่ตับมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นจนตับมีขนาดโตกว่าปกติเรียกว่า เป็นแบบไฮเปอร์พลาเซีย (hyperplasia) ซึ่งอาจจะเกิดแบบใดแบบหนึ่งหรือเกิดทั้ง 3 แบบในขณะเดียวกันก็ได้



ดังกล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าถ้าหากรับประทานอาหารหรือยาที่มีลูกจันทน์ในปริมาณต่ำๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าหากรับประทานในปริมาณมากก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้นจึงควรที่จะได้มีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นด้วย จึงจะช่วยให้มีความปลอดภัยต่อร่างกายมากขึ้น

รศ.บัญญัติ สุขศรีงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น