วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

ขมิ้น

ลักษณะทางพฤษศาสตร์


ขมิ้นเป็นพืชในตระกูลชิงจิเบอราซีอี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เคอร์คูมา ลองกา (Curcuma longa L) เป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินเช่นเดียวกับขิงและไพล โดยมากนักจะเรียกส่วนที่เป็นลำต้นนี้ว่าเหง้า ลำต้นส่วนที่เหนือดินมีความสูง ประมาณ 1 เมตร ใบมีขนาดยาว 2-3 ฟุต ปลายใบมน ใบมีสีเขียว ดอกมีสีขาวแกมเหลือง ขมิ้นมักจะขึ้นรวมกันอยู่เป็นกอๆ ส่วนเหง้าจะมีเนื้อ สีเหลืองจัด ถ้าเจริญในดินปนทรายจะให้เหง้ามากกว่าปลูกในดินธรรมดา เจริญได้ดีในฤดูฝน

ขมิ้นเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศในแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่กระจายไปสู่แถบต่างๆ มีบันทึกไว้ว่า มาร์โค โปโล (Marco Polo) ได้นำไปปลูกในจีน เมื่อ พ.ศ.1280 จากนั้นจึงแพร่เข้าสู่ยุโรป และส่วนอื่นๆ ของโลกในปัจจุบันนี้ขมิ้นมีปลูกกันมากในอินเดีย (โดยเฉพาะเมืองมัดราส บอมเบย์ และเบงกอล) ลังกา ภาคใต้ของจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไฮติ เปรู และจาไมกา ใน

แต่ละปีประเทศต่างๆ ผลิตขมิ้นได้ประมาณ 160,000 ตัน ในจำนวนนี้ผลิตจากอินเดียและบังคลาเทศถึง 90 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในอินเดียนั้นมีความต้องการขมิ้นเป็นอย่างมาก ขมิ้นที่ผลิตได้ในแต่ละปีจะนำไปใช้ ภายในประเทศมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือนำไปขายยังสหรัฐอเมริกา ศรีลังกา และญี่ปุ่น





ประโยชน์

ขมิ้นเป็นเครื่องเทศที่ใช้กันมานานแล้ว โดยนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย จากหลักฐานที่ค้นพบกล่าวว่า ขมิ้นได้มีใช้กันในชาวแอสซีเรียน (Assyrian) ตั้งแต่ 600 ปีก่อนพุทธศักราช การใช้ขมิ้นส่วนใหญ่ จะใช้เป็นเครื่องแต่งกลิ่น รสและสีในอาหารหลายชนิด เช่น แกงกะหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นยาอีกด้วย เช่น เป็นยาลดกรด ขับลมแก้ปวดท้อง แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลลง ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ขับน้ำเหลือง ใช้รักษารอบเดือนไม่ปกติ น้ำที่ได้จากขมิ้นนำมารักษาโรคผิวหนัง หรือนำมาพอกแก้ปวดตามข้อได้ แก้โรคตา แก้บิดปวดท้อง แก้ดีซ่าน แก้ท้องร่วง นำส่วนเหง้าไปต้มให้สุก แล้วบดให้ละเอียด นำไปทาแก้โรคผิวหนัง ทาตามซอกอับในร่างกายเพื่อบำบัดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา เหง้าขมิ้นกินแก้โรคภายในทั้งปวง แก้เสมหะ นำขมิ้นไปต้มกับน้ำนมและน้ำตาลใช้รับประทาน เพื่อป้องกันและรักษาไข้หวัด นอกจากนี้ยังนำไปใช้รักษาแผลสดและทำลายพยาธิได้

นอกจากจะใช้ประโยชน์จากขมิ้นดังกล่าวแล้ว ยังนำไปใช้เป็นสีย้อมและเครื่องสำอางอีกด้วย การใช้เป็นสีย้อมจะพบมากในอินเดีย จีนและบางส่วนของยุโรป ส่วนการใช้เป็นเครื่องสำอางนั้น จะพบมากในแถบตอนใต้ของเอเชีย และในหลายประเทศแถบตะวันออกไกล โดยใช้ขมิ้นทาผิวหน้า จะทำให้มีผิวนุ่มนวล ในมาเลเซียใช้ขมิ้นผสมน้ำสำหรับใช้อาบเพื่อให้ร่างกายสะอาด ในอินเดียใช้ทาที่ผิวหนังของผู้หญิงเพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก จากการศึกษาต่อมาพบว่าขมิ้นยังมีผล ต่อการแบ่งเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย โดยจะทำให้สายของโครมาติกแยกออกจากกัน เกิดการแตกหัก และถูกทำลายในที่สุด


สารเคมีที่สำคัญ

สารเคมีที่พบในขมิ้นนั้นจะพบในส่วนของน้ำมันหอมระเหยเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้วขมิ้น จะมีน้ำมันหอมระเหยตั้งแต่ 2-6 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันมีสีเหลืองและเรืองแสงได้เล็กน้อยสารเคมีที่พบมากที่สุดคือ เทอร์มีโรน (termerone) ประมาณ 58-59 เปอร์เซ็นต์ สารนี้มีสูตรโมเลกุลเป็น C15 H22 O รองลงมาได้แก่ ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบสารต่างๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ ซาบินีน (sabinene), บอร์นีออล (borneol), ซินีออล (cineol), เทอร์พีรอล (termerol), เคอร์คูโมน (curcumone) และฟิลแลนดรีน (phellandrene)

ในสารดังกล่าวนี้นั้นพบว่า เทอร์มีโรนหรือดีไฮโรเทอร์มีโรนและเคอร์คูโมนไม่ได้มีพบอยู่ ในน้ำมันหอมระเหยของขมิ้น แต่เกิดจากการรวมตัวในขณะที่มีการสกัดสารต่างๆ เช่น เคอรีคูโมน จะเกิดขึ้นในขณะที่มีการนำสารพวกอัลคาไล (alkali) เติมในน้ำมันหอมระเหย

นอกจากนี้ยังพบสารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เคอร์คูมิน (curcumin) ซึ่งมีประมาณ 1.8-5.4 เปอร์เซ็นต์ สารนี้มีสีเหลืองส้ม หรือสีเหลืองแดง ซึ่งเป็นสีของขมิ้นนั่นเอง สารนี้ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ และกรดอะเซติค

จากการศึกษาต่อมาพบว่า ปริมาณน้ำมันหอมระเหยและเคอร์คูมินในขมิ้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุของพืช กล่าวคือขมิ้นที่มีการเจริญเต็มที่แล้วจะมีปริมาณของเคอร์คูมินเปลี่ยนแปลงไป ในช่วงระยะการเจริญตั้งแต่เดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 8 เพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยในขมิ้น ที่มีการเจริญเต็มที่จะมีปริมาณลดลงและการลดลงจะมีมากที่สุดในเดือนที่ 8 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในการปลูกขมิ้นนั้น ถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือฟอสฟอรัสหรือโปตัสเซียมหรือทั้งสามชนิด จะทำให้ได้ผลผลิตของขมิ้นเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณของเคอร์คูมินจะลดลง



ประสิทธิภาพต่อจุลินทรีย์

       
ขมิ้นมีประสิทธิภาพต่อจุลินทรีย์ได้ทั้งแบคทีเรียและรากล่าวคือ สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดโรคโบทูลิซึม (Clostridium botulism) และโรคในระบบทางเดินอาหาร (เช่น Salmonella spp.) นอกจากนี้ยังยับยั้งการเจริญของราที่ทำให้อาหารเน่าเสีย (เช่น Rhizopus, Penicillium, Aspergillua) ได้อีกด้วย


ขมิ้นนอกจากจะมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้แล้ว ยังกระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์บางชนิดได้อีกด้วย โดยจะกระตุ้นการเจริญของแลคโตบาซิลไลสเตรพโตคอคไค และอี.โคไลได้ดี ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหมักดอง เป็นต้น

รศ.บัญญัติ สุขศรีงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น