วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

กินน้อยหน่า อย่าทิ้งเมล็ด

 

ในปี พ.ศ. 2523 เภสัชกรหญิงอรนุช พัวพัฒนกูลและคณะ

ได้ทดลองใช้เมล็ดน้อยหน่าบดคั้นกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1 : 2

ทำเป็นน้ำยาฆ่าเหา ได้ผลไหม ?



ครับ น้ำยาเมล็ดน้อยหน่า ฆ่าเหาได้ถึง 98% ในเวลา 2 ชั่วโมง กลายเป็นภูมิปัญญา ที่เหมาะกับสังคมชนบท เพราะน้อยหน่าหาง่าย ปลูกแทบทุกครัวเรือน (และเหาก็หาง่าย แทบทุกครัวเรือนเช่นกัน)



น้อยหน่าเป็นพืชที่นิยมปลูกทั่วเมืองไทยและปลูกมากเป็นพิเศษทางภาคอีสาน เด็กชอบน้อยหน่าเพราะมีน้ำตาลผลไม้มาก ลูกสุกๆ หวานจัด กินแล้วให้พลังงานรวดเร็ว มีแรงไปวิ่งตะลอนๆ ตามเพื่อนต่อไป



อันที่จริง นอกจากน้ำตาล น้อยหน่ายังมีสารอาหารหลายชนิด มีแคลเซียมบำรุงกระดูก และวิตามินซีอยู่ในปริมาณพอควร ไม่มีเบต้าแคโรทีนเหมาะจะกินเสริมกับผลไม้ชนิดอื่น เพื่อความหลากหลาย



ผลไม้เหม็นเขียวลูกหน้าชังชนิดนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนไทย จนนึกเอาว่า น้อยหน่าเป็นผลไม้ไทย บางคนไปเห็นชาวออสเตรเลียปลูกน้อยหน่า ทึกทักเอาว่า เขาแอบขโมยพันธุ์ไม้เมืองไทยไปปลูก

ไม่ใช่สักหน่อย น้อยหน่าเป็นผลไม้ต่างประเทศที่นำเข้าเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา เชื่อว่า น้อยหน่ามีถิ่นกำเนิดอยู่แถวอเมริกากลาง ชาวโปรตุเกสได้นำน้อยหน่ามาปลูก ในอินเดียเมื่อหลายร้อยปีก่อน ต่อมาจึงเดินทางเข้าสู่สยามประเทศ บันทึกทูตชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวถึงน้อยหน่าไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2230-2231 ในระยะแรกปลูกกันแถบลพบุรี อยุธยา ทุกวันนี้น้อยหน่าพันธุ์ดี ของลพบุรีมีชื่อว่า " น้อยหน่าพระที่นั่งเย็น " หรือ " น้อยหน่าพระนารายณ์ "

ชาวพื้นเมืองอเมริกากลางเรียกน้อยหน่าว่า แอนโนน่า (Annona) ซึ่งแผลงมาเป็นน้อยหน่า ตามลิ้นคนไทย แต่ชื่อที่เป็นมาตรฐานสากล (ชื่อวิทยาศาสตร์) คือ Annona squamosa Linn ในวงศ์ Annonaceae ฝรั่งเรียกน้อยหน่าว่า Sugar Apple หรือ Sweet sop

น้อยหน่ามีญาติพี่น้องทั่วโลกราว 50 ชนิด แต่ที่รับประทานได้มีเพียง 5 ชนิด คือ น้อยหน่า น้อยโหน่ง ทุเรียนน้ำ ชิริโมยา (เป็นน้อยหน่าพันธุ์ที่นิยมทั่วโลก) และอิมาลาซึ่งปลูกมากในอเมริกากลาง

สายพันธุ์พืชจำพวกน้อยหน่าจะมีเอกลักษณ์ที่ผล ผลของพืชจำพวกน้อยหน่า มีลักษณะคล้ายหัวใจบันทึกสมัยโบราณเคยเรียกน้อยหน่าว่า ลูกหัวใจวัว

น้อยหน่าหนึ่งผล มีเนื้อและเมล็ดมากมาย เพราะมันเป็นผลไม้จำพวกผลกลุ่ม คือมีหลายรังไข่ รังไข่แต่ละอันจะเจริญเป็นผลย่อย ติดอยู่บนฐานเดียวกัน เปลือกแต่ละผล ย่อมหลอมรวมเข้าเป็นผืนเดียวกันคลุมด้านนอก ส่วนเนื้อน้อยหน่าก็คือเนื้อของรังไข่ ที่เจริญขึ้นมานั่นเอง



สายพันธุ์น้อยหน่าในไทย มีหลายชนิด แต่ที่นิยมบริโภคในปัจจุบันคือ น้อยหน่าหนัง ซึ่งเป็นสายพันธุ์มาจากเวียดนาม นำเข้ามาปลูกครั้งแรกที่อุบลราชธานีในปี พ.ศ.2475



ยังมีพืชในสกุลนี้อีกสองสองชนิดที่คล้ายน้อยหน่า คือน้องโหน่ง ซึ่งมีผลโตกว่าน้อยหน่า หนังสีน้ำตาลแดงหรือชมพูเวลาสุก เนื้อเป็นสีขาว รสชาติออกทางมันไม่ค่อยหวาน คุณค่าทางอาหารคล้ายกัน แต่มีวิตามินเอสูงกว่า ปลูกประปรายทางภาคอีสานและกลาง และอีกชนิดหนึ่งคือทุเรียนน้ำ ปลูกมากทางภาคใต้ ทุเรียนน้ำมีผลใหญ่ที่สุด ในบรรดาพืชจำพวกน้อยหน่า บางครั้งผลหนักกว่า 2 กิโลกรัม ดูคล้ายขนุนลูกเล็กๆ ผลสุกสีเขียวปนน้ำตาลอ่อน เนื้อหวานอมเปรี้ยว วิตามินซีสูง นิยมคั้นน้ำดื่มชุ่มคอ



ในใบและเมล็ดน้อยหน่า มีสารเคมีชื่อ Anonaine เด็ดใบมาตำให้แหลก คลุกกับน้ำมันพืชใช้พอกหัวฆ่าเหาได้ดี แต่ต้องระวังไม่ให้เข้าตาจะเกิดอาการอักเสบ ฤทธิ์ฆ่าเหาเกิดจากสาร Anonaine ในใบและเมล็ด นอกจากนี้ในส่วนเมล็ดยังมีน้ำมัน อยู่ประมาณ 45% ประกอบด้วยกรดอินทรีย์อัลกาลอยด์เรซิน สเตียรอยด์ และอื่นๆ อีกหลายชนิด



ดังนั้น กินน้อยหน่าอย่าทิ้งเมล็ด ลองตรวจดูผมลูกๆ เห็นเหาละก้อ ไม่ต้องซื้อหายาฝรั่งราคาแพง จัดการเลย ด้วยกระบวนท่า เมล็ดน้อยหน่า อาละวาดพิฆาตเหา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น