วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

โสม

พูดถึงโสม ทุกคนคงนึกถึงโสมเกาหลี เพราะขึ้นชื่อรู้จักกันมานาน แม้พักหลังๆ จะมีชื่อโสมชนิดอื่นๆ มาให้ได้ยินบ่อยขึ้น อย่างเช่น โสมจีน โสมเอเชีย โสมอเมริกัน โสมอินเดีย โสมอัฟริกา โสมชิลี โสมเปรู โสมไซบีเรีย โสมรัสเซีย คนส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจว่าบรรดาโสมทั้งหลายล้วนจัดเป็นโสมประเภทเดียวกับโสมเกาหลีกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง



ชื่อชั้นของโสมเกาหลีคงไม่ต้องอธิบายกันอีกแล้วว่าคือโสมอะไร ส่วนคำว่าโสมจีนกับโสมเอเชียนั้น อันที่จริงหมายถึงโสมชนิดเดียวกัน นักวิชาการฝรั่งคงเห็นว่าโสมชนิดนี้ปลูกกันทั่วไปในเอเชียตะวันออก จึงเรียกเป็นโสมเกาหลีบ้าง โสมจีนบ้าง โสมเอเชียบ้าง บางครั้งก็เรียกว่าโสมตะวันออก หรือโสมญี่ปุ่น ก็แล้วแต่จะเรียก


โสมเกาหลี เป็นที่รู้จักกันมานานมากกว่าสองพันปี เป็นสมุนไพรที่ใช้กันทั่วไป ในวงการแพทย์แผนจีนโบราณ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย บำรุงกำลังทางเพศ เสริมภูมิต้านทาน ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อบางประเภท โดยมักจะพูดถึงสรรพคุณของโสม กับเรื่องเพศกันเป็นส่วนใหญ่ ทำนองว่าช่วยทำให้เตะปี๊บดัง ว่างั้นเถอะ ส่วนจะจริงหรือไม่จริงนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง



โสมเกาหลีหรือโสมจีน สร้างชื่อกระฉ่อนในวงการสมุนไพรมานานจนกระทั่งกลายเป็นอมตะ ชื่อดังมาก ราคาก็ยิ่งแพง หายากอีกต่างหาก ทำให้ต้องแสวงหาโสมประเภทอื่นๆ เข้ามาใช้ทดแทน บรรดาโสมอเมริกัน โสมอัฟริกา โสมเปรู โสมชิลี โสมไซบีเรีย โสมรัสเซียที่พาเหรดกันเข้ามาในวงการ จึงเป็นสมุนไพรที่วงการโสมพยายามนำมาใช้ทดแทนโสมเกาหลี เมื่อเจอสมุนไพรอื่นๆ ที่เป็นพืชกลุ่มเดียวกับโสม ก็นำมาใช้โดยเข้าใจว่าให้ฤทธิ์เหมือนๆ กัน



อันที่จริงโสมเกาหลีหรือโสมจีนกับโสมอเมริกัน แม้จะเป็นพืชกลุ่มเดียวกันแต่ไม่เหมือนกันนัก ยิ่งโสมไซบีเรียหรือโสมรัสเซียด้วยแล้ว เป็นพืชกลุ่มเดียวกัน แต่ก็นับได้แค่เป็นญาติห่างๆ มีฤทธิ์แตกต่างกันพอสมควร จะบอกว่าโสมไซบีเรียหรือโสมรัสเซียไม่ใช่โสมเกาหลีก็ไม่ผิด



โสมเกาหลีหรือโสมจีนหรือโสมเอเชียมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Panak ginseng โสมกลุ่มนี้ปลูกอยู่ทั่วไปในประเทศจีน เกาหลี ไต้หวัน รวมถึงบางส่วนของญี่ปุ่น เป็นโสมกลุ่มที่รู้จักกันทั่วไป หากเรียกชื่อ " โสม " แล้วก็ต้องหมายถึงโสมกลุ่มนี้



โสมกลุ่มที่ใกล้ชิดกับโสมเกาหลีมากที่สุดน่าจะเป็นโสมอเมริกัน ซึ่งมีชื่อเรียกทางพฤกษศาสตร์ว่า Panak quinguefolius แม้จะใกล้เคียงโสมเกาหลีแต่ไม่ถึงกับเป็นชนิดเดียวกัน ยังมีสรรพคุณบางอย่างแตกต่างกันอยู่บ้าง โสมอเมริกันนี้เป็นที่รู้จักกันเมื่อมีการเสาะแสวงหาโสมใหม่ๆ ทดแทนโสมเกาหลีจึงได้มาพบโสมอเมริกันนี่แหละ



โสมอัฟริกัน โสมเปรู โสมชิลี และโสมอีกหลายชนิดเป็นโสมที่หามาทดแทนโสมเกาหลีด้วยกันทั้งนั้น มีความแตกต่างจากโสมเกาหลีอย่างละเล็กละน้อย ชื่อเสียงของโสมกลุ่มหลังๆ นี้ยังสู้โสมอเมริกันไม่ได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของการตลาดเสียมากกว่าที่มีผลทำให้โสมกลุ่มหลังนี้ไม่ค่อยดังเท่าโสมอเมริกันนัก



ส่วนโสมไซบีเรียกับโสมรัสเซีย ต้องจัดให้เป็นสมุนไพรอีกกลุ่มหนึ่ง คนในวงการหลายคนเรียกโสมไซบีเรียว่าโสม ทำให้เข้าใจกันว่าเป็นโสมเกาหลีที่ปลูกในไซบีเรีย ซึ่งเข้าใจกันไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่



อันที่จริงโสมไซบีเรีย เป็นสมุนไพรจีนอีกประเภทหนึ่งเป็นสมุนไพรที่นำรากและลำต้นใต้ดิน มาใช้เป็นยาไม่ต่างจากโสม แต่หากดูจากชื่อทางพฤกษศาสตร์แล้วก็รู้ว่าแม้จะเป็นพืชวงศ์เดียวกับโสม แต่ก็เป็นคนละชนิดกัน ในทางพฤกษศาสตร์ โสมไซบีเรียมีชื่อเรียกว่า Eleutherococcus senticosus หรือ Acanthopanak senticosus เป็นพืชวงศ์เดียวกับโสมคือวงศ์ Araliaceae



โสมไซบีเรีย (Siberian ginseng) ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เป็นต้นว่า Touch-me-not, Wild pepper, Eleuthero, Eleutheroccoccus, Eleuthero ginseng, Devil"s shrub, Devil"s bush ส่วนชื่อที่รู้จักกันมากรองลงมาจากชื่อโสมไซบีเรียคือ " อีลิวเธโร"



หากพิจารณากันในแง่มุมของการแพทย์แผนตะวันออกแล้ว โสมไซบีเรีย มิใช่สมุนไพรใหม่เลย มีบันทึกอยู่ในตำราการแพทย์จีนโบราณกว่าสองพันปีมาแล้วโดยเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า " ซิหวู่เจี่ย" มีการนำเอารากและลำต้นใต้ดินมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ หวัดและไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีบันทึกกล่าวถึงสรรพคุณของสมุนไพรซิหวู่เจี่ย ว่าช่วยเสริมพละกำลัง สร้างความกระปรี้กระเปร่าคล้ายคลึงกับสรรพคุณที่พบในจินเส็งหรือโสม



พืชสมุนไพรซิหวู่เจี่ย พบได้ทั่วไปในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงเขตไทก้า แถบไซบีเรียของรัสเซีย ชาวไซบีเรียที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวฮั่นและจีนนิยมนำพืชชนิดนี้มาต้มดื่มเพื่อเสริมสร้างกำลังรวมถึงเพื่อป้องกันโรค สมุนไพรซิหวู่เจี่ยจึงเป็นที่รู้จักกันมานาน



ต่อมาภายหลังวงการกีฬาของสหภาพโซเวียตนำเอาสมุนไพรชนิดนี้ไปใช้ในการเสริมสมรรถนะ และความทรหดอดทนในหมู่นักกีฬา บางทีก็นำไปใช้ในหมู่มนุษย์อวกาศบ้าง ชาวประมง และชาวเหมืองบ้าง กระทั่งกลายเป็นโสมในสายตาของชาวตะวันตก



ในช่วงทศวรรษที่ 1960 วงการสมุนไพรตะวันตกได้นำเอาสมุนไพรซิหวู่เจี่ยมาใช้ทดแทนโสมจีน หรือโสมเกาหลีซึ่งมีราคาแพงและหายาก โดยเข้าใจว่าเมื่อเป็นพืชกลุ่มเดียวกันจึงน่าจะมีสรรพคุณไม่ต่างกัน เหตุนี้เองครับที่ทำให้สมุนไพรชนิดนี้ถูกเรียกขานในชื่อว่า " โสมไซบีเรีย"



ได้ยินชื่อโสมไซบีเรีย หรือโสมรัสเซียเมื่อไหร่ ก็ขอให้เข้าใจกันไว้ว่าเป็นคนละกลุ่มกับโสมเกาหลี แม้จะมีสรรพคุณคล้ายๆ กันแต่สารออกฤทธิ์ในโสมไซบีเรียกับโสมเกาหลีนั้น เป็นคนละกลุ่ม พืชก็เป็นคนละชนิด มีข้อดีคล้ายกันบ้าง ต่างกันบ้าง ข้อเสียของโสมไซบีเรียดูเหมือนจะน้อยกว่าโสมเกาหลี ดังนั้นอย่านำไปใช้ให้เหมือนกันก็แล้วกันครับ


(update 3 มิถุนายน 2002)

[ ที่มา... เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 520 วันที่ 20 - 26 พ.ค. 2545 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น