วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2553

น้ำลูกยอ

                              ดร.วินัย  ดะห์สัน

ผู้เขียนเป็นคนที่มักจะได้ลาภปากที่ไม่ทันคาดคิดอยู่บ่อยๆ โดยมักมีผู้ปรารถนาดีนำเอาอาหารแปลกๆ มาให้ได้ทดลองด้วยตนเองอยู่เสมอ หลายเดือนมาแล้วมีคนที่ผู้เขียนไม่เคยรู้จัก นำเอาน้ำลูกยอใส่ขวดสีเขียว ขนาด 75 เซนติลิตร ติดราคาขวดละ 1,800 บาท มาให้ ผู้เขียนได้เห็นราคาแล้วก็ตกใจเพราะไม่เคยคาดคิดว่า น้ำผลไม้อะไรจะมีราคาแพงได้ขนาดนั้น ราคาแพงกว่าไวน์บอว์โดซ์ประเภทชาโตบางยี่ห้อเสียด้วยซ้ำ



เมื่อต้นเดือนที่แล้ว มีชาวบ้านแถบฉะเชิงเทราซึ่งผู้เขียนไม่รู้จักอีกเหมือนกัน นำเอาน้ำลูกยอใส่ขวดใสมาให้ผู้เขียนได้ลองดื่ม คนที่เอามาให้เขายืนยันว่ากรรมวิธีที่ใช้ในการสกัดน้ำลูกยอของเขา ไม่ต่างจากวิธีการผลิตน้ำลูกยอต่างประเทศยี่ห้อดังที่ผู้เขียนได้รับมาในครั้งแรกสักเท่าไหร่ เข้มข้นกว่าและอร่อยกว่าด้วยซ้ำ ว่างั้นเถอะ

จะเกทับบลัฟแหลกกันอย่างไรคงไม่สำคัญ แต่ที่น่าแปลกใจคือ น้ำลูกยอของชาวบ้านที่นำมาให้ผู้เขียน ราคาขายแค่ขวดละ 180 บาท ถูกกว่ากันสิบเท่า อย่างไรก็ตาม แม้จะมีราคาถูกขนาดนี้เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำอ้อย น้ำกระเจี๊ยบใส่ขวดขนาดเดียวกัน ซึ่งขายในราคาประมาณ 20-30 บาทก็ต้องนับว่าน้ำลูกยอยังราคาแพงอยู่มาก


ไม่น่าจะเชื่อนะครับว่ากระแสความคลั่งไคล้น้ำลูกยอของคนไทย จะส่งผลให้ราคาน้ำลูกยอที่ในอดีต ไม่ค่อยมีใครนิยมสักเท่าไหร่กลับกลายมาเป็นน้ำผลไม้ทองคำทำราคาได้สูงถึง 180 บาท สำหรับน้ำผลไม้คั้นปริมาณไม่ถึงลิตร ขนาดราคา 180 บาทยังว่าแพงแล้ว ดังนั้น ขออย่าไปวิจารณ์น้ำลูกยอต่างประเทศที่มีราคา 1,800 บาทเลย



ผู้เขียนไม่ได้สนใจว่าราคาของน้ำลูกยอยี่ห้อดังจากต่างประเทศจะสูงขึ้นหรือลดลงไปกว่านี้ ไม่ได้สนใจว่าน้ำลูกยอชาวบ้านที่พักหลังๆ เห็นมีออกมาจำหน่ายกันหลายต่อหลายเจ้า ราคาถูกบ้างแพงบ้าง ถึงวันนี้จะมีราคาสักเท่าไหร่ สิ่งที่ผู้เขียนสนใจคือ น้ำลูกยอได้กลายเป็นกระแสโภชนาการ ไม่ต่างจากยุคที่น้ำปั่นผักหรือน้ำอาร์ซีชีวจิต กลายเป็นกระแสฮิตขึ้นมาเมื่อกว่าสองปีมาแล้ว



เมื่อปลายเดือนเมษายน ผู้เขียนมีโอกาสไปบรรยายในการประชุมวิชาการด้านโภชนาการ ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น แถบบางเขน ได้รับคำถามจากนักวิชาการด้านโภชนาการด้วยกันว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับน้ำลูกยออย่างไร เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าน้ำลูกยอช่วยรักษาโรคได้หลายต่อหลายโรค น่าจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า


คำตอบของผู้เขียนคือ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เมื่อกระแสน้ำอาร์ซีชีวจิตหรือน้ำคั้นธัญพืชเก้าชนิด โด่งดังเปรี้ยงปร้าง ผู้คนเชื่อกันว่าน้ำอาร์ซีรักษาโรคได้สารพัดโรคแม้กระทั่งโรคมะเร็ง ผู้เขียนได้รับคำถามลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งผู้เขียนตอบไปว่าเรื่องของน้ำอาร์ซีที่ชาวบ้านแห่แหนกันหาดื่มนั้น เป็นแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว ขอให้รออีกสักพักหนึ่ง กระแสที่ว่านี้ก็จะจางหายไป


น้ำอาร์ซีที่ครั้งหนึ่งผู้คนเคยเสาะแสวงหากันเหลือเกิน น้ำอาร์ซีสำเร็จรูปมีวางขายกันทั่วไป ถึงวันนี้หาไม่ได้อีกแล้วในท้องตลาด คนที่เคยเรียกหาน้ำอาร์ซีมาดื่มในวันนี้ กลับไม่เคยถามหาถึงน้ำอาร์ซีอีกเลย กระแสนิยมชีวจิตหายไปเสียเฉยๆ เหมือนครั้งหนึ่งที่เคยเกิดกระแสนิยมน้ำปั่นผัก แล้วก็เลือนหายไปไม่ต่างกัน

ความนิยมน้ำลูกยอในวันนี้ เป็นกระแสไม่ต่างจากน้ำปั่นผักและน้ำอาร์ซี ถึงวันหนึ่งผู้คนก็เลิกเห่อเลิกดื่ม ขออย่าได้ซีเรียสกันนักเลย สิ่งที่ควรทราบคือโภชนาการของแท้นั้น ไม่มีกระแสหรอกครับ คนที่ดื่มน้ำลูกยอเป็นน้ำผลไม้ชนิดหนึ่งทำได้อย่างนี้จึงจะเป็นโภชนาการแท้ ปีหน้าก็ยังดื่มน้ำลูกยอได้ แต่หากยึดถือว่าน้ำลูกยอเป็นน้ำผลไม้มหัศจรรย์ใช้ป้องกันรักษาโรคสารพัดถึงวันหนึ่งก็ต้องเลิกดื่ม เพราะเรื่องหลังนี้เป็นแค่กระแสเท่านั้น อะไรที่เป็นกระแสอยู่ได้ไม่นานหรอก

ผู้เขียนจะไม่วิจารณ์ความเชื่อที่ว่า น้ำลูกยอช่วยรักษาโรคได้หลายชนิดตั้งแต่เบาหวานไปถึงมะเร็ง พักหลังๆ ลามไปจนถึงโรคเอดส์ เหตุที่ไม่วิจารณ์เพราะความเชื่อเหล่านี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการ สนับสนุนเลยแม้แต่น้อย ใครที่จ่ายสตางค์แพงๆ ซื้อน้ำลูกยอก็ต้องถือว่าเป็นความพึงใจส่วนตัว



อันที่จริงน้ำลูกยอหากพิจารณาในแง่ของน้ำผลไม้ ก็ต้องถือว่าเป็นน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์ จะไปบอกว่าไม่มีประโยชน์คงไม่ได้ คนไทยรู้จักใบยอกันมานานเอามาใช้ทำห่อหมก ทำแกงอ่อม หรือแกงเผ็ดกะทิใส่ใบยอ ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ ใช้ทำแกงหอยขม

ยอมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Morinda citrifolia บางครั้งฝรั่งเรียกว่า ผลไม้เนยแข็ง เพราะรสชาติเลี่ยนพอกัน ยอเป็นพืชที่มีประโยชน์ ใบยออุดมไปด้วยแคลเซียม โดยมีแคลเซียมสูงพอๆ กับผักคะน้า ใบยอต้มสักสองช้อนโต๊ะ ให้แคลเซียมสูงพอๆ กับนมหนึ่งแก้วหรือสูงถึง 400 มิลลิกรัม การดูดซึมแคลเซียมแม้จะไม่ดีเท่านม แต่ก็ต้องนับว่าดูดซึมได้ไม่เลวนัก

นอกจากแคลเซียมสูงแล้ว ใบยอรวมไปถึงลูกยอ ยังมีฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ทั้งใบยอและน้ำลูกยอ จึงนำมาใช้บำรุงกระดูกได้ค่อนข้างดี สำหรับวิตามินนั้น ในใบยอรวมไปถึงลูกยอ มีสารเบต้าแคโรทีนสูง สารตัวนี้เป็นสารก่อวิตามินเอแถมยังเป็นสารต้านออกซิเดชั่น ช่วยทำลายอนุมูลอิสระอีกต่างหาก



ดื่มน้ำลูกยอเป็นน้ำผลไม้ จึงให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดีกว่าน้ำผลไม้หลายชนิดเสียด้วยซ้ำ แต่ก็อย่างที่บอกคือ ประโยชน์ของน้ำลูกยอนั้นเกิดขึ้นในสถานะที่มันเป็นน้ำผลไม้ ไม่ใช่ยารักษาโรค การใช้น้ำลูกยอไปรักษาสารพัดโรคอย่างที่เชื่อกันอยู่นั้น เป็นเรื่องที่เลยเถิดจากความเป็นวิชาการไปค่อนข้างมาก



เมื่อน้ำลูกยอกลายเป็นกระแสความคลั่งไคล้ ราคาหนึ่งขวดขนาด 750 เซนติลิตร 1,800 บาทหรือสองพันบาท จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดคาดสักเท่าไหร่ ซื้อตามกระแสก็ต้องจ่ายแพงอย่างนี้ ก็เหมือนครั้งหนึ่งผู้คนเคยคลั่งต้นบอนสี กระถางหนึ่งราคาเป็นหมื่น พอหมดกระแสแล้วราคาบอนสีตกเหลือแค่ร้อยกว่าบาท น้ำลูกยอราคาเป็นพัน ก็คงมีอนาคตไม่ต่างกันหรอกครับ


(update 3 มิถุนายน 2002)

[ ที่มา... เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 519 วันที่ 13 - 19 พ.ค. 2545 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น